Me Myself

6 ก.พ. 2554

CAI คอมพิวเตอร์ช่วยสอน

CAI ย่อมาจาก computer-assisted instruction หรือ computer-aided instruction คำนี้เป็นศัพท์ในสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ และสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งราชบัณฑิตยสถาน บัญญัติศัพท์ว่า “ซีเอไอ” หรือ “การสอนใช้คอมพิวเตอร์ช่วย” แต่คนทั่วไปนิยมเรียกว่า “คอมพิวเตอร์ช่วยสอน” ซึ่งมักอ้างอิงถึงซอฟแวร์ทางการศึกษาชนิดหนึ่ง ที่ถูกนำมาใช้เป็นส่วนสำคัญในกระบวนการเรียนการสอน CAI มีลักษณะเด่นสามประการคือ ประหยัด ได้ผล และฉลาด
มีคำหลายคำที่เกี่ยวข้องกับแนวคิด (concept) ของ CAI เช่น Computer-Aided Instruction (CAI), Computer-Based Instruction (CBI), Computer-Aided Learning (CAL), Computer-Based Training (CBT), Computer-Based Education (CBE), Integrated Learning Systems (ILS) และคำอื่นๆ เช่น Intelligent Computer-Assisted Instruction (ICAI), Interactive Knowledge Retrieval systems (ITR) เป็นต้น

นักวิชาการชาวไทยหลายท่าน ได้ให้ความหมายของคอมพิวเตอร์ช่วยสอนไว้แตกต่างกัน ดังนี้:
  • ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน: การสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องช่วย
  • รศ.ยืน ภู่วรวรรณ: โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ได้นำเนื้อหาวิชาและลำดับวิธีการสอนมาบันทึกเก็บไว้ คอมพิวเตอร์จะช่วยนำบทเรียนที่เตรียมไว้อย่างเป็นระบบ มาเสนอในรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับนักเรียนแต่ละคน
  • รศ.ดร.ฉลอง ทับศรี: บทเรียนที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นตัวนำเสนอเนื้อหาและกิจกรรมการเรียน ส่วนใหญ่มุ่งที่จะให้ผู้เรียนเรียนด้วยตนเองเป็นหลัก
  • ผศ.ดร.สุกรี รอดโพธิ์ทอง: โปรแกรมคอมพิวเตอร์หลายๆรูปแบบ ที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสอนและการรับรู้ของผู้เรียน
  • สารานุกรมศัพท์การศึกษาและจิตวิทยา สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา ม.สุโขทัยธรรมาธิราช: การนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในระบบการเรียนการสอนวิชาต่างๆ เช่น วิชาสังคม ศิลป วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ รวมทั้งวิชาคอมพิวเตอร์ โดยถือว่า คอมพิวเตอร์เป็นสื่อในระบบการเรียนการสอนที่สามารถให้ผู้เรียนรู้ผลการตอบสนองได้รวดเร็วกว่าสื่อประเภทอื่น ยกเว้นสื่อบุคคล

ประเภทของบทเรียน



เราจะเข้าใจ CAI ได้ดียิ่งขึ้น เมื่อพิจารณาถึงชนิดหรือประเภทต่างๆ ของมัน ซึ่งมีดังนี้:
  • ฝึกทบทวน (Drill and Practice) ถือว่าทักษะต่างๆที่ได้ถูกนำเสนอมา และการฝึกฝนปฏิบัติต่อไปให้มากขึ้น เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญ
  • สอนเนื้อหาใหม่ (Tutorial) กิจกรรมการสอนเนื้อหาใหม่นี้รวมทั้งการนำเสนอข้อมูลและเพิ่มเติมเป็นงานในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการฝึกทบทวน (drill and practice) เกมส์ (games) และการจำลองสถานการณ์ (simulation)
  • แก้ปัญหา (Problem Solving) ซอฟแวร์การแก้ปัญหาสอนทักษะและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาเฉพาะเรื่อง
  • จำลองสถานการณ์ (Simulation) ซอฟแวร์จำลองสถานการณ์สามารถจัดเตรียมสภาพที่คล้ายคลึงกับความเป็นจริง ซึ่งการจำลองไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตจริง หรือไม่เสี่ยงอันตราย
  • เกมการศึกษา (Educational Game) ซอฟแวร์เกมส์สร้างการแข่งขันเพื่อให้ได้รับคะแนนสูงสุดและเอาชนะคู่แข่งหรือเอาชนะคอมพิวเตอร์ หรือทั้งสองอย่าง
  • ค้นพบ (Discovery) ซอฟแวร์การค้นพบจัดเตรียมฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เฉพาะเจาะจงไปยังแนวความคิดหนึ่งๆ หรือขอบเขตเนื้อหาหนึ่ง และท้าทายผู้เรียนให้วิเคราะห์ เปรียบเทียบ วินิจฉัย และหาค่า โดยยึดการสำรวจข้อมูลของเขาเป็นหลัก

ชนิดของเครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนา



เครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนา CAI แบ่งออกเป็นสี่กลุ่มคือ:
  1. ภาษาโปรแกรมระดับสูง (high-level languages) เช่น BASIC, Pascal, Logo และ C
  2. ภาษานิพนธ์บทเรียน (authoring languages) เช่น Coursewriter, Pilot และ Tutor
  3. ระบบนิพนธ์บทเรียน (authoring systems) เช่น PHOENIX, DECAL, Icon-Author, InfoWindow, LS1, SOCRATIC และ Authorware
  4. เครื่องช่วยนิพนธ์บทเรียน (authoring utilities) ซึ่งแบ่งออกได้อีกหลายชนิด เช่น lesson shell (ตัวอย่างโปรแกรม: Apple Shell Games), code generator (ตัวอย่างโปรแกรม: Screen Sculptor) และ library routines

สำหรับระบบนิพนธ์บทเรียนของคนไทยที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ได้แก่ โปรแกรมจุฬา C.A.I. ของ นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ซึ่งได้รับการพัฒนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527

การตัดสินใจเลือกใช้เครื่องมือชนิดใด หรือการพิจารณาว่าเครื่องมือใดเหมาะกับคุณ ขอให้เริ่มคิดเสียก่อนว่า แท้ที่จริงแล้ว มีความจำเป็นเพียงใดที่จะต้องสร้างบทเรียนนั้น บางที บทเรียนที่คุณต้องการ อาจมีวางจำหน่ายอยู่แล้ว และหากว่าไม่มี ก็ขอให้คิดถึงการสร้างบทเรียนด้วยระบบนิพนธ์บทเรียน เนื่องจากใช้งานง่ายและช่วยประหยัดเวลาได้มากในการพัฒนาบทเรียน ทั้งนี้ ให้เข้าใจว่า บทเรียน CAI โดยทั่วไปที่ใช้สอนได้เป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงนั้น ต้องการเวลาในการพัฒนากว่า 200 ชั่วโมงทีเดียว

ตัวอย่าง CAI

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น